facebook Youtube 

นายกรัฐมนตรีสั่งการแปลง "มรดกทางวัฒนธรรม" มาสร้าง "มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ" จากทุกท้องถิ่นไทยสู่เวทีโลก โดยรัฐพร้อมสร้าง Ecosystem และ Platform รองรับโลกยุดิจิทัล

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

เมื่อวานนี้ (19 เม.ย.65) ผมได้ร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์งาน "ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ที่กำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 20-24 เม.ย.ศกนี้ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผมจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนพาลูกหลานมาเที่ยวชมวัง พิพิธภัณฑ์ เข้าวัดไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคล รวมทั้งเรียนรู้สืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติผ่าน 20 แหล่งเรียนรู้รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งผมเชื่อว่าความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และความเป็นไทย จะช่วยหลอมรวมจิตใจไทยให้เป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งก่อให้เกิดความรัก ความหวงแหนสมบัติของชาติที่บรรพบุรุษของเรา ได้ปกป้องรักษาไว้ให้เราในวันนี้ และลูกหลานในวันข้างหน้า
กิจกรรมดีๆ เหล่านี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก โดยผมได้มอบนโยบายในการแปลง "มรดกทางวัฒนธรรม" มาสร้าง "มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ" จากระดับท้องถิ่นสู่เวทีระดับโลก ทั้ง "5F" คือ (1) Food-อาหาร (2) Film-ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (3) Fashion-การออกแบบแฟชั่นไทย (4) Fighting-ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (5) Festival-เทศกาลประเพณีไทย นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย "วัฒนธรรมกินได้" ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันในชุมชน แสวงหาจุดเด่น-จุดแข็ง-จุดขาย ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้าน สินค้าและผลิตภัณฑ์จากชุมชน อาหารการกิน รวมทั้งการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละภูมิภาค จัดเป็นตลาดนัด-ตลาดชุมชน ช่วงเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงเทศกาลต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น ทุกอย่างเกิดจาก "ความร่ำรวยทางวัฒนธรรม" ของเรา ที่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ที่รัฐบาลผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม และประทับตราแบรนด์ “Thailand” ให้ตราตรึงในใจชาวโลก ทุกครั้งที่นึกถึง
นอกจากการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ แล้ว รัฐบาลก็ได้อนุรักษ์สิ่งเก่าที่เป็นมรดกของชาติ ควบคู่กันไปด้วย เช่น การประสานขอรับมอบโบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุของไทย ที่อยู่ในต่างประเทศ โดยช่วงปี พ.ศ.2557 ถึงปัจจุบัน ได้รับคืน 10 ครั้ง รวม 759 รายการ จากทั้งหมด 1,090 รายการ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ "ยูเนสโก" (องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) เพื่อพิทักษ์และอนุรักษ์ไว้ซึ่ง "มรดกของชาติ" ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน โดยการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกในหลากหลายสาขา ได้แก่
1. "แหล่งมรดกโลก" เช่น ผืนป่าแก่งกระจาน (ขึ้นทะเบียนฯ พ.ศ.2564) และยังมีอีก 4 แห่งที่ได้ขึ้นบัญชีเบื้องต้น และอยู่ระหว่างกระบวนการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา คือ (1) อนุสรณ์สถาน-ภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงของล้านนา (2) พระธาตุพนม (3) กลุ่มศาสนสถานปราสาทพนมรุ้ง-ปราสาทเมืองต่ำ-ปราสาทปลายบัด และ (4) เมืองโบราณศรีเทพ
2. "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" เช่น โขน (พ.ศ.2561) นวดไทย (พ.ศ.2562) และโนรา (พ.ศ.2564) และอยู่ในระหว่างการเสนอให้ "เทศกาลสงกรานต์" ขึ้นทะเบียนเช่นกัน
3. "มรดกความทรงจำแห่งโลก" เช่น ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจากฟิล์มกระจก ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (พ.ศ.2560) สำหรับ (1) นันโทปนันทสูตรคาหลวง (2) เอกสารใบลานเรื่องอุรังคธาตุ อยู่ระหว่างกระบวนการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา
4. "เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก" (UNESCO Creative Cities Network) จากแนวคิดการใช้ศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน 7 สาขา ได้แก่ หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Arts) การออกแบบ (Design) ภาพยนตร์ (Film) อาหาร (Gastronomy) วรรณกรรม (Literature) สื่อศิลปะ (Media Arts) และดนตรี (Music) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองสร้างสรรค์แล้ว ในช่วงปี พ.ศ.2558-ปัจจุบัน จำนวน 5 เมือง ได้แก่ (1) เทศบาลนครภูเก็ต (สาขาอาหาร) (2) จังหวัดเชียงใหม่ (สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน) (3) จังหวัดสุโขทัย (สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน) (4) กรุงเทพมหานคร (สาขาการออกแบบ) (5) จังหวัดเพชรบุรี (สาขาอาหาร) และอยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ฯ อีก 3 เมือง ได้แก่ เชียงราย (สาขาการออกแบบ) นครปฐม (สาขาดนตรี) และสุพรรณบุรี (สาขาดนตรี)
ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างการดำเนินการในระดับนโยบาย เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ให้เป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม นำรายได้เข้าประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและยั่งยืน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม รวมทั้ง Ecosytem และ Platform ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุคดิจิทัล บนฐานของต้นทุนทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้งและกว้างขวาง ซึ่งเราคนไทยโชคดีที่ได้รับมรดกสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นปู่ย่าตายายที่สั่งสมและพัฒนาเรื่อยมา ดังนั้นผมเห็นว่าเราทุกคน ทุกภาคส่วน จะต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนครั้งยิ่งใหญ่ของชาติบ้านเมืองในทุกๆ ด้านในยุคหลังโควิดครับ

(รายละเอียดเพิ่มเติมงาน "ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”  https://www.m-culture.go.th/th/article_view.php?nid=172386)
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar